“พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ”
“พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ”
“พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ” สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทหาร รวมถึงวิวัฒนาการของกองทัพบก อาทิ บทบาท ภารกิจ การป้องกันประเทศ และรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างหลอมรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ วันนี้แอดจึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้กันคะ
อาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ เดิมเป็นอาคารโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โดยได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการให้ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า “พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนกลางของกองทัพบกที่จัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทหาร เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของกองทัพบก เกิดความภาคภูมิใจ มีความรักชาติ และเข้าใจบทบาทและภารกิจของกองทัพบกในการป้องกันและรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติมาโดยตลอด
ปัจจุบันอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ มีการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ๕ ห้อง ได้แก่
๑. ห้องพระบารมีปกเกล้าฯ (ชั้นที่ ๓ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ) ประดิษฐานพระบรมรูปขนาดเท่าพระองค์จริงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานกองทัพไทยให้มีความทันสมัย พัฒนากองทัพให้มีประสิทธิภาพก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทั้งในด้านกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศ อีกทั้งภายในห้องพระบารมีปกเกล้าฯ ได้จัดแสดงภาพของอดีตผู้บัญชาการทหารบก เพื่อสื่อความหมายถึงข้าราชการทหารของกองทัพบก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดทุกยุคทุกสมัย
๒. ห้องจอมทัพไทย (ชั้นที่ ๒ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ) จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชในประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนี้ภายในห้องจอมทัพไทยยังได้จัดแสดงธงชัยเฉลิมพล ซึ่งกองทัพบกได้รับพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆ เพื่อสื่อถึงความสำคัญขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะจอมทัพไทย ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะประจำหน่วย ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นเกียรติยศสูงสุดของหน่วยทหารนั้น ๆ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ภาวะสงคราม ทหารทั้งปวงจะต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต
๓. ห้องการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของกองทัพบก (ชั้นที่ ๒ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ) จัดแสดงภารกิจที่สำคัญของกองทัพบกในปัจจุบันที่มีบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในหลายมิติ ทั้งด้านการป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายใน ในขณะเดียวกันกองทัพบกยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในชาติ การพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติ ตลอดจนการฝึกผสมภายใต้รหัสการฝึกต่าง ๆ ในประเทศสมาชิกคู่ภาคี ทั้งนี้เพื่อให้มีความพร้อมในการเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย และการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม
๔. ห้องจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (ชั้นที่ ๑ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ) จัดแสดงเหตุการณ์จำลองวีรกรรมการรบทางบกครั้งสำคัญของไทย และวีรกรรมของกำลังพลที่ได้นำเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจมาสู่กองทัพบกเป็นส่วนรวม โดยได้จัดแสดงการจำลองเหตุการณ์ขนาดเท่าของจริง ๓ เหตุการณ์ เช่น การพระราชทานธงชัยเฉลิมพลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์ขนาดย่อ ๑๕ เหตุการณ์ เช่น การรบที่ทุ่งลาดหญ้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และการส่งทหารอาสาเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕. ห้องอาวุธ (ชั้นที่ ๑ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ) จัดแสดงอาวุธปืนซึ่งกองทัพบกนำไปใช้ในราชการสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยสงครามเวียดนาม เพื่อแสดงถึงวิวัฒนาการของอาวุธปืนที่ใช้ในราชการของกองทัพบกเพื่อใช้ในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติไทย ซึ่งอาวุธปืนที่จัดแสดง ได้แก่ ปืนคาบศิลา ปืนเล็กยาว ปืนพก และปืนกล
นอกจากนี้กองทัพบกได้กำหนดให้มุขด้านหน้าของชั้นที่ ๒ ของพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ เป็นห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพบกอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือไปจากห้องรับรองภายในอาคารกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งปัจจุบันกองทัพบกเพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับคณะผู้แทนจากมิตรประเทศที่จะเข้าเยี่ยมคารวะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งบริเวณด้านหน้าห้องรับรองเคยเป็นจุดเข้าเวรรักษาการณ์กำปั่น บริเวณหน้าห้องทำงานของผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๕๒๙
อนึ่งกองทัพบกได้ปรับปรุงห้องรับรองเพื่อใช้เป็นสถานที่ต้อนรับคณะผู้แทนจากมิตรประเทศที่จะเข้าเยี่ยมคารวะผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งภายในห้องรับรองประดับภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภาพพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผนังด้านหลังห้อง มีธงชาติประเทศไทย และธงชาติของประเทศของผู้แทนจากมิตรประเทศที่จะเข้าเยี่ยมคารวะ ผนังด้านข้างของห้อง จัดแสดงภาพของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และการฝึกของนักเรียนนายร้อยในห้วง พ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๔๕๘ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงด้านการทหารตามแบบตะวันตกเพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ผนังด้านหน้าของห้อง มีตู้จัดแสดงอาวุธที่ใช้ในราชการของกองทัพบกในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ตู้
ตู้ที่ ๑ จัดแสดง ง้าว ของ้าว หอก ปืนเล็กยาวมาร์ตินี-เฮนรี ปืนเล็กยาวมานลิเคอร์ ปืน ร.ศ. ๑๒๑ หรือปืนเล็กยาวแบบ ๔๕
ตู้ที่ ๒ จัดแสดง กระบี่ตราแผ่นดิน กระบี่หัวสิงห์ตราช้าง และกระบี่ทหารม้าตรามงกุฎ
สำหรับอาคารศรีสิทธิสงคราม เดิม เรียกว่า อาคาร “สรรพาวุธ” เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classicism) เช่นเดียวกับอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา ผนังอาคารทึบเจาะช่องหน้าต่าง แบ่งช่วงหน้าต่างเป็นช่องโดยใช้แนวกำแพงทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมติดกับอาคาร ตัวเสาตกแต่งเลียนแบบการก่อสร้างด้วยหิน (Rustication) ภายในรูปทรงสี่เหลี่ยมหน้าต่างเป็นบานกระทุ้ง มีช่องระบายอากาศเหนือทุกช่องหน้าต่างและประตู อาคารทั้ง ๒ ชั้น มีระเบียงทอดยาวและจัดวางห้องต่าง ๆ เป็นแถวยาวตามตัวอาคาร โดยมีทางขึ้นหลักเข้าตัวอาคาร ๒ ทาง ด้วยอาคารศรีสิทธิสงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ผู้บัญชาการทหารบกจึงกรุณามีดำริให้ปรับปรุงอาคารศรีสิทธิสงครามสำหรับใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ในการจัดประชุม ต้อนรับ และประกอบพิธีที่สำคัญของกองทัพบกเป็นส่วนรวม ภายใต้แนวคิดการออกแบบอเมริกันสไตล์ เพื่อให้กลมกลืนสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมนอกตัวอาคารที่มีความงดงาม
12 กุมภาพันธ์ 2563
ผู้ชม 6565 ครั้ง