การฝึกคอบร้าโกลด์ 2018

ในปีนี้การฝึก Cobra Gold มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีประเทศจีน และอินเดีย เข้าร่วมในส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีประเทศในโครงการฝ่ายเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ (Multinational Planning Augmentation Team : MPAT) จำนวน 10 ประเทศ สำหรับประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) จำนวน 10 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 29 ประเทศ จำนวนผู้เข้ารับการฝึกรวม 11,075 นาย โดยใช้พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และบริเวณอ่าวไทยตอนบน เป็นพื้นที่การฝึกหลัก ในระหว่างวันที่ 13-23 กุมภาพันธ์ 2561 ประกอบด้วย การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) และโครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) โดยในปีนี้ได้เพิ่มการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance/Disaster Relief: HA/DR) การฝึกต่อต้านการก่อการร้ายสากล (Counter Terrorism: CT) และการฝึกกวาดล้างและทำลายทุ่นระเบิด (Land Mine Destruction: LMD) 


สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึก Cobra Gold แบ่งเป็นสามระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของกำลังพลมิตรประเทศ ที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย

 

05 กรกฎาคม 2561

ผู้ชม 1126 ครั้ง

Engine by shopup.com